วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

รายการ update ในช่วงนี้(20-27 ก.พ. 2551)

ช่วงนี้ใน KM corner ของเรามีรายการ update ดังนี้ค่ะ

- เพิ่มลิงค์ ความรู้ทางการบริหาร ในหมวดเกี่ยวกับการจัดการความรู้ ซึ่งเป็น blog ของคณาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ของคณะเราเองค่ะ และในอนาคตจะขอให้คณาจารย์สาขาการเมืองและการปกครอง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จัดทำblog เรื่อง ความรู้ทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขึ้นนะคะ

- บล็อคบุคลากรของคณะ ทั้งของ ผศ.ธันยวัฒน์ และ อาจารย์ ราม มีรายการ update ทั้งสองท่านค่ะ เข้าไปลองอ่านดูกันได้นะคะ

ทั้งนี้หากอาจารย์ท่านใดมีบล็อคส่วนตัวที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์และควรเผยแพร่ให้บุคลากรคณะเราได้ร่วมอ่านร่วมชม ก็แจ้งมายังทีม KM ได้นะคะ

การฝึกอบรมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ : การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สวัสดีค่ะ ชาวคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ทุกท่าน ตามที่ทีม KM ได้ตั้งใจไว้คือจะพยายามหาเรื่องราวมานำเสนอที่ KM corner นี้ ทุกสัปดาห์ โดยจะ update ทุกต้นสัปดาห์ สำหรับในช่วงแรกที่เรากำลังริเริ่มจัดทำ KM นะคะ (หลังจากนั้นก็หวังว่าจะมีเรื่องราวมานำเสนอได้บ่อยขึ้น)

สำหรับในช่วงสัปดาห์นี้ คณะของเราก็จะมีกิจกรรมบริการวิชาการอยู่ 1 กิจกรรมนะคะ ซึ่งจัดในนาม ศูนย์ศึกษาการบริหารกิจการบ้านเมืองระดับท้องถิ่น (ศบมท.) เป็นการฝึกอบรมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2551 นี้ค่ะ ผู้เข้ารับการอบรมของเรา ส่วนใหญ่เป็นปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน จากจังหวัดลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน โครงการนี้มีผู้รับผิดชอบเป็นคณะทำงานซึ่งได้แก่
1. ผศ.ธันยวัฒน์ รัตนสัค
2. อ.รวีวรรณ แพทย์สมาน
3. อ.พจนา พิชิตปัจจา
4. อ.ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์
5. อ.สุจิตรา ศรีมูล
6. น.ส. นภาภรณ์ ปัญญาราษฎร์
7. นางเกศสินี สมพงษ์
8. น.ส. ปวีณา ธูปทอง
ซึ่งสถานที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ของเรามี 3 ที่ด้วยกันค่ะ โดย 2 วันแรก (27-28 ก.พ.) จะเป็นการบรรยายและการฝึกปฏิบัติ จัดที่โรงแรมกรีนเลครีสอร์ท อยู่บนถนนคันคลองชลประทาน ทางไปสนามกีฬา 700 ปี หัวข้อเรื่องคือ
1. แนวคิดเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา
2. การนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ
3. การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ
4. การเขียนโครงการ

2 หัวข้อแรกนั้น บรรยายโดย ดร.ศันสนา ศิริตาม กรรมการผู้จัดการ บริษัทอิงคะ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจทั่วไป ผลงานเด่นๆของบริษัทอิงคะ จำกัด ก็คือ ดำเนินโครงการฝึกอบรมบ่มเพาะหลักสูตร “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (New Entrepteneurs Creation-NEC) ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม , ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดล้านนา ด้านอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ และอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน

สำหรับหัวข้อที่ 3-4 นั้น บรรยายโดย คุณโสภณ แท่งเพชร เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 8 ว สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งท่านปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ ชั้น 3 อาคาร 1 คณะสังคมศาสตร์นี่เองค่ะ
โดยในหัวข้อ “การเขียนโครงการ” จะให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ฝึกปฏิบัติไปด้วยซึ่งมีคณาจารย์ของเราร่วมเป็นผู้ช่วยวิทยากรค่ะ

และวันสุดท้ายของการฝึกอบรม พวกเราทั้งหมดก็จะไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและพัฒนา เวียงกุมกาม กับ หมู่บ้านถวาย เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับฟังและรับรู้แนวทางการปฏิบัติตลอดจนปัญหาอุปสรรคต่างๆ เกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นจากหน่วยงานจริง สถานที่จริง และผู้ปฏิบัติงานจริง ก็หวังว่า เราจะได้นำภาพบรรยากาศและสรุปเนื้อหาของกิจกรรมทั้งหมดมานำเสนอกันต่อไปนะคะ

สำหรับเรื่องการจัดงานบริการวิชาการนี้ ก็มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆ สำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่ประสานงานโครงการลักษณะนี้มาฝาก ซึ่งคงจะนำไปใส่ใน Job Module ได้ลำบาก เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่หลักของงาน แต่ถือเป็นประสบการณ์และบทเรียนจากการทำงานด้านนี้มากกว่า บางครั้งก็เป็น tactics เฉพาะบุคคล

Tactics ของดิฉันในการจัดงานฝึกอบรม หลักๆก็คือ เรื่องจำนวนผู้เข้ารับการอบรมค่ะ ซึ่งงานอบรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแบบนี้ ย่อมจะกำหนดจำนวนคนมาอบรมที่แน่นอนได้ยาก คนที่ส่งรายชื่อว่าจะมา บางทีก็ไม่มา หรือบางคนไม่ได้ส่งรายชื่อ แต่ก็มาอบรมด้วยซะอย่างนั้น มันก็จะมีผลกระทบหลายเรื่องในแง่ของการจัดการ อย่างน้อยก็เรื่องของที่นั่งผู้เข้าอบรม เรื่องอาหารการกิน และเรื่องของหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน เรื่องที่นั่งผู้เข้าอบรมนี่ถ้าแจ้งยอดกับทางเจ้าของสถานที่ (โรงแรม) ผิดพลาด บางครั้งท่านก็อาจประสบเหตุ ห้องว่างโหรงเหรง หรือไม่ก็คนล้นทะลัก เก้าอี้เสริมแล้วเสริมอีก จนบางคนก็ต้องใช้ตั๋วยืน ซึ่งในฐานะผู้ประสานงานอบรม เหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกเครียดและวิตกกังวลได้โดยไม่รู้ตัว และพาลจะทำให้งานอื่นๆ กระทบไปด้วย แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่ จำนวนคนที่มาอบรมจริงมักจะน้อยกว่าจำนวนที่แจ้งรายชื่อมาค่ะ สาเหตุหลักก็มาจากสถานการณ์ของหน่วยงานนั้นๆเอง ค่ะ ซึ่งพอถึงวันอบรม ก็อาจมีภารกิจเร่งด่วนจำเป็น ทำให้ไม่สามารถมาอบรมได้ เพราะอย่างไร ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ทำให้หน่วยงานต้นสังกัดและผู้ขอเข้าอบรม ตัดสินใจไม่มาง่ายกว่า การอบรมที่ต้องมีค่าใช้จ่าย

ฉะนั้น เมื่อเรามีรายชื่อผู้แจ้งความประสงค์จะมาอบรมอยู่ในมือแล้ว เวลาแจ้งยอดคนเข้าอบรมกับทางโรงแรม ให้ลดจำนวนคนไปเลยค่ะประมาณ 15-20 % เช่น คนแจ้งชื่อมา 100 คน ก็บอกกับทางโรงแรมไปว่า ขอที่นั่ง 80 ที่ค่ะ....เพราะเรื่องต่อรองขอลด(กับแม่ค้าพ่อค้าทั้งหลาย) ย่อมยากกว่าขอเพิ่มอยู่แล้ว จึงไม่ต้องห่วงว่าถึงเวลาเข้าจริง ถ้าคนมาเยอะกว่าที่เราสำรองที่ไว้ อย่างไรเสียทางโรงแรมก็จะมีที่นั่ง และอาหารการกินเพียงพอสำหรับคนที่เพิ่มขึ้นมาเสมอ ทั้งที่เวลาเราขอลดจำนวนการันตีลง ทางโรงแรมจะบอกว่า “ไม่ได้ค่ะ เพราะเตรียมของไว้พอดีคนแล้ว”

ส่วนการอบรมครั้งนี้ ตอนนี้มีผู้แจ้งรายชื่อเข้ามาแล้วประมาณ 80 คน ทั้งนี้ ผศ.ธันยวัฒน์ และ อ.รวีวรรณ ท่านบอกว่า พอใจแล้ว เพราะถ้าเยอะกว่านี้เกรงว่าจะดูแลไม่ทั่วถึง และจะทำให้การฝึกอบรมไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควร ซึ่งเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลการฝึกอบรม นั้น จำนวนคนก็มีส่วนในการเพิ่ม/ลดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการฝึกอบรมด้วยเช่นกัน แต่ในมุมมองของฝ่ายแผนและประเมินผล ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้เข้ารับการอบรมไว้ที่ 120 คน ก็รู้สึกใจหายใจคว่ำอยู่ค่ะ

สาเหตุ ก็เพราะว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการบูรณาการตามยุทธศาสตร์ตามกลุ่มจังหวัด/จังหวัดค่ะ เวลาหน่วยเหนือท่านพิจารณาเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ ท่านก็จะพิจารณาจากแผนและผลของการปฏิบัติงานปีที่ผ่านมา ซึ่งการที่เราสามารถปฏิบัติงานได้ตามแผน แต่ใช้จ่ายงบประมาณในจำนวนน้อยนั้น กลับยิ่งทำให้ท่านจัดสรรงบประมาณให้เราน้อยลงแต่คาดหวังให้เราทำผลงานได้เพิ่มขึ้น เรื่องการกำหนดเป้าหมายผลผลิต หรือเป้าหมายของแผนปฏิบัติงาน เลยกลายเป็นเหมือนแค่การเพิ่มปริมาณผลผลิตเท่านั้นเอง แถมถ้าเรายิ่งใช้จ่ายงบประมาณได้น้อยลง ปีต่อไปเราก็จะได้งบประมาณน้อยลงเช่นกัน อาจถือเป็นแนวทางการสุ่มหาค่าความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเราก็ได้(โดยไม่ให้เรารู้ตัว)

แต่จะถือว่า การตั้งเป้าหมายผลผลิตซึ่งสวนทางกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร นั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำใจหรือไม่ ก็คงไม่ใช่นะคะ เพราะดิฉันก็ยังหวังเสมอว่า หากตัดเรื่องข้อจำกัดด้านเวลาไปได้ บุคลากรของคณะเราซึ่งมีผู้มีความรู้ความสามารถด้านการวางแผน การนำแผนไปสู่การปฏิบัติ และการประเมินผล หลายๆ ท่าน ก็คงได้ช่วยกำหนดเป้าหมายผลผลิต หรือเป้าหมายของแผนปฏิบัติงานตลอดจนวิธีประเมินผล ของแผนงานคณะเรา ในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณได้ และจะสามารถนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หันมาพิจารณาแนวทางการจัดสรรงบประมาณกันใหม่ โดยอิงผลงานเชิงคุณภาพควบคู่ไปกับผลงานด้านปริมาณด้วย เพราะคณะของเรา น่าจะเป็นผู้นำแนวคิด “จิ๋วแต่แจ๋ว” ใช่หรือเปล่าคะ ฝากทุกท่านลองพิจารณาค่ะ ขอบคุณค่ะ

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

KM ทักทาย

สวัสดีค่ะ บุคลากรคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ทุกท่าน หลังจากที่เราได้ไปร่วมสัมมนา “โครงการปันความรู้สู่ CKO ของหน่วยงาน” เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งกองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้จัดขึ้น โดยเป็นการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้ของหน่วยงานต่างๆภายใน มช. และยังเป็นการช่วยกระตุ้นพร้อมทั้งแนะแนวทางในการดำเนินการจัดการความรู้ภายในองค์กร ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้วและยังไม่ได้ดำเนินการ (อย่างเช่นคณะของเรา)

ก็นับว่าเป็นการสัมมนาที่ได้ผลเป็นอย่างดียิ่งเลยค่ะ เพราะพอเรากลับมา โดยเฉพาะ ผศ.ธันยวัฒน์ ท่านก็ได้คิดริเริ่มและวางแผนโครงการในการจัดทำ KM ของคณะเราหลายๆโครงการด้วยกัน เนื่องจาก

1. การจัดทำ KM ถือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการ ของส่วนราชการ กล่าวโดยง่ายก็คือ ถูกบังคับให้ทำนั่นเอง และมหาวิทยาลัยเองก็ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ จัดทำ KM มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 แล้ว ซึ่งมีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการก้าวหน้าไปอย่างมาก เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และสำนักหอสมุด

2. อย่างไรก็ตาม การจัดทำ KM นี้ก็ถือว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ยิ่งสำหรับหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านวิชาการ เพราะ KM เปิดโอกาสให้พวกเราได้พัฒนาตนเอง รับทราบจุดเด่น จุดด้อยในการปฏิบัติงานของเราได้อย่างกว้างขวาง ตลอดจนได้ศึกษาและสร้างสรรค์หนทางการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ และแม้แต่สนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกันภายในหน่วยงานอีกด้วย

3. ที่ผ่านมา การจัดทำ KM ในหลายหน่วยงานประสบปัญหาที่สำคัญคือ การที่ผู้บริหารของหน่วยงานไม่ให้ความสำคัญตลอดจนไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดทำ KM ของหน่วยงาน ทำให้ขาดการสนับสนุนทรัพยากรการดำเนินงานหลายประการ ทั้งกำลังคนและงบประมาณ

4. สืบเนื่องจากข้อ 3 ด้วยความที่กระบวนการจัดทำ KM ถือเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและทำให้เป็นส่วนหนึ่งของงานประจำ โดยไม่ควรเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นของคณาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ แต่การไม่ให้ความสำคัญของผู้บริหารนั้น ก็ทำให้กระบวนการจัดทำ KM นั้นขาดตอนไปหรือไม่ได้ประสิทธิผลดีเท่าที่ควร ประโยชน์ที่ทั้งคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ควรจะได้จากการทำ KM ก็เลยไม่มี แถมกลายเป็นงานน่าเบื่อไปด้วยซ้ำ

เมื่อนับเหตุผลได้ครบ 4 ข้อดังกล่าวแล้ว ก็นำมาสู่คำว่า “จุดประกาย” และ “เอาจริงเอาจัง” ค่ะ แต่เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาไปติดขัดเรื่องขาดแคลนทรัพยากร หรือนโยบายไม่ชัดเจน ผศ.ธันยวัฒน์ ก็เลยลองนำเสนอโครงการจัดทำ KM เบื้องต้นมา 4-5 โครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณหรือว่าทรัพยากรอื่นมากนัก ทั้งสามารถดำเนินการได้ทันที โครงการที่จะขอนำเสนอต่อพวกเรา ก็ได้แก่

(1) โครงการสำรวจความรู้วิกฤต (critical knowledge) ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคณะฯ ในอีก 5 ปี ข้างหน้า
(2) โครงการจัดทำ job module เพื่อพัฒนางานบริหาร และงานบริการการศึกษา
(3) โครงการจัดทำ blog สำหรับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่เพื่อเผยแพร่ความรู้ และความคิดอิสระ
(4) โครงการ lunch seminar เพื่อให้คณาจารย์ได้เสนอผลงานวิจัย แนวคิดทฤษฎีทางการเมือง การบริหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหม่ๆ เพื่อให้คณาจารย์ได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน
(5) โครงการทำจุลสาร KM ของคณะฯ
(6) โครงการ “อยากรู้ อยากบอก” สำหรับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ได้แลกเปลี่ยนซักถามเกี่ยวกับกฎ กติกา มารยาทในการปฏิบัติงานเรื่องต่างๆ (ซึ่งอาจเป็นกฎระเบียบการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็น กติกาเฉพาะในคณะเรา ก็ได้) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการทำงานที่ต้องมีการประสานกันระหว่างสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการ

ทั้งนี้ ตอนนี้เราก็ยังรอโครงการอื่นๆ ของกรรมการ KM ท่านอื่นมาเพิ่มเติมอยู่นะคะ

ดังนั้น โครงการที่ได้รับการคัดเลือกโครงการแรก โดยมีเกณฑ์พิจารณา คือ ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ก็คือ โครงการจัดทำ Blog ค่ะ เพื่อให้เกิดการ “จุดประกาย “ อันจะนำมาสู่การ “เอาจริงเอาจัง” ของพวกเราในการจัดทำ KM ต่อไป

โดย Blog ของเรา นี้จะถือเป็น KM Corner ของคณะฯ ในการนำเสนอเกี่ยวกับบทความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน) เช่น
งานสำนักงาน : เนื้อหาเกี่ยวกับ เทคนิค/ขั้นตอนการทำงานของสายสนับสนุนแต่ละคน การลดขั้นตอน/การคิดค้นขั้นตอนใหม่ของการทำงานแต่ละอย่าง วิธีการใช้คอมพิวเตอร์สำนักงานแบบง่าย สะดวก/เทคนิคต่างๆ และรวมถึง ความรู้ใหม่ๆที่แต่ละคนได้รับเมื่อไปอบรม/สัมมนา/ประชุม

การเรียนการสอน : เนื้อหาเกี่ยวกับเทคนิคการสอนของอาจารย์แต่ละท่าน วิธีการนำเสนอ การค้นข้อมูลประกอบการสอน การจัดทำและประยุกต์ใช้สื่อการเรียนการสอน ตลอดจนเคล็ดเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน /การปรับรูปแบบการสอนให้เหมาะกับเด็ก ฯลฯ

การวิจัย : เนื้อหาคล้ายการเรียนการสอน คือนำเสนอเทคนิค/เคล็ดลับการทำวิจัย ตลอดจนประสบการณ์การทำวิจัย การแสวงหาแหล่งทุน การนำเสนอโครงร่างต่อแหล่งทุน และเคล็ด อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นานาสาระเพื่อคนทำงาน : เนื้อหาเกี่ยวกับ ข้อคิด หรือ วิธีการใช้ชีวิตในที่ทำงาน การปรับตัว การเรียนรู้ ฯลฯ ตลอดจน เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับการทำงาน สภาพแวดล้อมที่ทำงานที่ทุกคนพบเห็นและอยากเล่าสู่กันฟัง (เช่น การทำทางเท้าทั่ว มช. , อ่างแก้วรั่ว เป็นต้น)
ในอนาคตก็หวังว่า จะได้นำเรื่องที่เราจัด lunch seminar หรือ ผลของกิจกรรม KM อื่นๆ มาถ่ายทอดใน KM Corner ของเราต่อไปนะคะ

ทั้งนี้ก็คงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะในอีกทางหนึ่ง เราก็คงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะต่อการใช้งานความสนใจ และเกิดประโยชน์ต่อพวกเราจริงๆ

และหากท่านใด มีความเห็นหรือข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม ก็เสนอมาได้นะคะ ผ่าน KM Corner นี้ หรือผ่านทาง e-office หรือแม้แต่ส่งให้กรรมการ KM ของเราโดยตรงก็ยินดีค่ะ