วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

แนะเจ้านายหัด ‘ขอบคุณ’ ลูกน้อง ชี้ได้ทั้งใจ-ประหยัดต้นทุนมหาศาล

เดลิเมล์ – คนชอบพูดกันว่าความสุภาพอ่อนโยนไม่มีค่าอะไร แต่ผลสำรวจล่าสุดชี้ชัด มารยาทอันดีเล็กๆ น้อยๆ สามารถลดต้นทุนธุรกิจได้ถึงปีละ 5,000 ล้านปอนด์ (315,000 ล้านบาท)

นักวิจัยระบุว่า การได้ยินคำว่า ‘ขอบคุณ’ หรือ ‘ดีมาก’ บ่อยๆ มีความหมายสำหรับพนักงานพอๆ กับการขึ้นเงินเดือน

การชมเชยและให้กำลังใจยังทำให้พนักงานมีแนวโน้มทุ่มเททำงานหนักขึ้น และภักดีกับบริษัท ซึ่งหมายความถึงการประหยัดต้นทุนในการรับพนักงานใหม่มาทดแทน

การสำรวจความคิดเห็นพนักงาน 1,000 คนในอังกฤษ โดยบริษัทที่ปรึกษา ไวท์ วอเตอร์ สเตรทเตอจีส์ พบว่าผู้ถูกสำรวจ 1 ใน 3 ไม่เคยได้ยินคำว่าขอบคุณจากเจ้านายเลยแม้ทำดีแล้วก็ตาม และอีก 1 ใน 3 บอกว่าได้ยินบ้างแต่ยังไม่สมกับผลงานที่ทำไป

โดยรวมแล้ว พนักงานรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย เท่ากับว่าคนเหล่านี้มีแนวโน้มต่ำที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจ แต่มีแนวโน้มสูงที่จะลาออกไปหางานใหม่

ไวท์ วอเตอร์ระบุว่า หากรู้สึกว่าได้รับการยอมรับมากขึ้น พนักงานอาจช่วยให้บริษัทประหยัดเงินจากการสูญเสียศักยภาพการผลิตได้ถึง 5,200 ล้านปอนด์ (327,600 ล้านบาท)

จากการสำรวจพบว่า การชมเชยทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนได้ขึ้นเงินเดือน 1% ซึ่งในความเป็นจริงนับเป็นต้นทุนที่เล็กน้อยมากสำหรับนายจ้าง

พนักงาน 3 ใน 4 บอกว่าการได้รับคำชมเชยจากเจ้านายอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ แต่มีเพียง 25% เท่านั้นที่บอกว่าได้รับคำชมเชยมากเท่าที่อยากได้

การสำรวจยังพบว่า พนักงานที่ต้องใช้แรงงานมีแนวโน้มต่ำที่จะได้รับคำชมเชย

อะเวอริล ไลมอน นักจิตวิทยาและผู้อำนวยการของไวท์ วอเตอร์ เสริมว่าพนักงานสูงวัยและพนักงานหญิงอยากได้รับความมั่นใจจากเจ้านายมากที่สุด ขณะเดียวกัน คำชมมีผลมากกว่าแค่ทำให้ที่ทำงานรื่นรมย์เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มผลกำไรของบริษัทได้ด้วย

ไลมอนแจงว่า การขอบคุณไม่ได้เป็นเรื่องของมารยาทเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสถานะการเงินของบริษัท เนื่องจากแรงจูงใจที่สำคัญสำหรับพนักงานมีด้วยกันสองเรื่องคือ รางวัลเป็นตัวเงิน และสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความสุข

ปกติแล้ว มีพนักงานเพียง 1 ใน 7 ที่มุ่งมั่นกับงานและบริษัท ดังนั้น การยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวพนักงานจะสามารถลดต้นทุนในการว่าจ้างพนักงานใหม่ เป็นกำลังใจให้พนักงานทุ่มเทมากขึ้น เพิ่มศักยภาพการผลิต และลดการลาป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์



โดย ผู้จัดการออนไลน์
14 มีนาคม 2551 09:41 น.

วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2551

การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ช่วงนี้ประเด็นที่น่าสนใจของพวกเราก็น่าจะหนีไม่พ้นเรื่องของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามที่ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 ซึ่งก็จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป

คงต้องยอมรับว่า พวกเรายังไม่ค่อยมีความเข้าใจและยังไม่ได้ติดตามเกี่ยวกับผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากการก้าวเข้าสู่ระบบใหม่เท่าใดนัก (ท่านว่า อย่าใช้คำว่า ออกนอกระบบ แต่ให้ใช้คำว่า เข้าสู่ระบบใหม่ จะดีกว่า)

สำหรับตอนนี้ เราเลยจะขอนำเสนอบทความ : 50 ข้อความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากบุคคลากรในมช. เกี่ยวกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งนำมาจากเว็บไซท์เฉพาะกิจของมช. "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ" เพื่อที่ให้ชาวคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ได้เกิดคำถามและคำตอบในหลายเรื่องที่เราสนใจ แล้วจะได้นำมาสู่การแสวงหาความรู้มาเผยแพร่ต่อพวกเรากันต่อไปนะคะ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ก็หวังว่าจะได้มีโอกาสอภิปรายร่วมกันนะคะ


1.อยากให้ พรบ. ครอบคลุมลูกจ้างประจำมากกว่านี้ เช่น ในด้านสวัสดิการการรักษาพยาบาลของลูกจ้างมากกว่านี้

2.การรับฟังความคิดเห็นควรมีจุดชัดเจนในการเสนอได้ และมีการสื่อสารกลับมาด้วย

3.ควรมีการพัฒนาแนวคิด การมีส่วนร่วม ของภาคประชาชนหรืออื่น ๆ ต่อมช.

4.ควรจัดตั้งกองทุนสะสมขึ้นมาสักกองทุน เพื่อเวลาออกจากราชการแล้วจะได้มีเงินก้อน (คล้ายกับกบข.)

5.อยากให้สภาอาจารย์ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงของอาจารย์จริง ๆ อย่างเป็นกลาง ไม่จมอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตัว

6.ก่อนที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ขอให้ทุกอย่าง(กฎหมายแม่และกฎหมายลูก) มีความชัดเจนที่สุด และให้คำนึงถึงนักศึกษาเป็นสำคัญอย่า treat นักศึกษาเป็นเสมือนลูกค้า อีกอย่างการออกนอกระบบไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษา ดังนั้นจะทำอะไรจะต้องให้นักศึกษามีส่วนร่วมด้วย

7.ผู้ที่อยู่ในระบบราชการของมหาวิทยาลัยไม่ต้องมีการทดลองงาน เพราะทุกคนทำงานมานานแล้ว

8.การเป็นพนักงานของรัฐถ้าถูกจ้างทุก 3 ปี เวลาไปทำการกู้ธนาคาร เช่น เพื่อสร้างบ้าน ซึ่งต้องผ่อนระยะเวลานาน ปัจจุบันธนาคารมักจะไม่ปล่อยกู้ระยะยาว เนื่องจากถือว่าเราไม่มีความมั่นคง อยากให้ช่วยเหลือจุดนี้ด้วย

9.มหาวิทยาลัยมีแนวทาง หรือวางแผนรายได้ของมหาวิทยาลัยไว้อย่างไร เพื่อให้มหาวิทยาลัยอยู่รอด เนื่องจากดูแล้วในมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบทั้งหมดนั้น มช. ดูไม่มีความเข้มแข็งทางฐานะการเงิน ซึ่งน้อยกว่าม.มหิดล และจุฬาฯ (หมายถึง เงินรายได้อื่น ๆ นอกจากงบประมาณแผ่นดิน) ในฐานะบุคลากรของมหาวิทยาลัยรู้สึกไม่มั่นคง เนื่องจากเงินเดือนที่จะเพิ่มขึ้นจะต้องมาจากรายได้ของมหาวิทยาลัย

10.การเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ควรมีข้อมูลที่ชัดเจนให้กับประชากรในมหาวิทยาลัยก่อน มี พรบ.ลูกที่ยังไม่ชัดเจนและไม่มีข้อมูล การตัดสินใจในการเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยในกำกับก็ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะข้อมูลยังไม่นิ่งและผู้บริหารก็ยังไม่ชี้แจงด้วยตนเองหรือ ประชาพิจารณ์ในข้อบังคับที่มีผลกระทบต่อบุคลากรที่ทำงานในมหาวิทยาลัยทุกระดับ

11.ขอให้หัวหน้าส่วนงาน ชี้แจงบัญชีทรัพย์สินด้วย

12.ขอให้หัวหน้าส่วนงานสามารถถูกถอดถอนได้ ถ้าบริหารงานอย่างไร้ความชอบธรรม

13.ต้องการให้บรรจุขั้นตอนการพิจารณาขึ้นขั้นเงินเดือนโปร่งใสได้ ตรวจสอบได้

14.ในการพิจารณาภาระงานสอนอาจารย์ 15 ชั่วโมง/สัปดาห์ และภาระงานวิจัย กิจการนักศึกษา คิดเป็นภาระงาน ซึ่งถ้าคิดตาม FTES ไม่เหมาะสมยิ่ง

15.ควรมีความชัดเจนของเงินเดือน ระหว่างพนักงานมหาวิทยาลัยปัจจุบันที่รับเงินเดือน 1.7 เท่า กับข้าราชการที่เมื่อออกจะได้ประมาณ 1.3 เท่า จะมีความต่างกัน 0.4 ซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับข้าราชการ

16.ระเบียบฯ เน้นความสำคัญของการบริหารจัดการและผลประโยชน์มากกว่าการคำนึงถึงสิทธิ สวัสดิการ ขวัญกำลังใจ และความมั่นคงในชีวิตของผู้ปฏิบัติ ซึ่งไม่เคยทราบว่ามีปรากฏที่ใดของประเทศต่าง ๆ ในโลก

17.ควรให้สิทธิข้าราชการที่มีอายุใกล้เกษียณ (5-7 ปี) ได้รับสิทธิตามระเบียบของราชการให้ได้สูงสุด (ถ้าจำเป็นต้องออกจากราชการจริงๆ)

18.ยังไม่เห็นประโยชน์ของการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับที่มีมากกว่าการเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ/ท้องถิ่นชัดเจนเท่าไหร่ในปัจจุบัน (อาจจะต้องพูดให้เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นของส่วนรวม/สังคมมากกว่านี้)

19.การบริหารงานบุคคลในระบบคู่ขนาน หน่วยงานที่ทำงานบริหารบุคคลก็คงจะทำงานเป็น 2 ระบบและให้ทักษะความรู้ทางกฎ ระเบียบ บริหารงานบุคคลเป็น 2 แบบ ควรเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่บุคคล

20.กังวลในเรื่องของการประเมิน หากมีการประเมินที่โปร่งใส

21.ขอให้บุคลากรมีส่วนร่วมมากที่สุด สภาพนักงานควรให้สายสนับสนุนมีสิทธิเป็นประธานสภาด้วย

22.เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อความสมบูรณ์ของประเทศชาติ ไม่ใช่เติบโตเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งหรือวิชาชีพที่หารายได้ได้ง่าย

23.ควรมีการชี้แจงและประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน ถึงผลดี ผลเสีย ของการเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับอย่างกว้างขวาง ในด้านต่างๆ เช่น ความก้าวหน้าทางวิชาการ ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยในอนาคตในด้านการเงิน ผลกระทบต่อนักศึกษา

24.ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ความภาคภูมิใจในความเป็น “ข้าราชการ” หายไปไหนหมด

25.ควรเลือกอธิการและผู้บริหารแบบมืออาชีพ

26.วางแผนบริหารทรัพย์สินต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น งานที่ดินสิ่งก่อสร้าง ทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ

27.ปรับทิศทางให้ชัดเจน โดยเฉพาะ Core Competency ว่าเราควรเน้นตรงไหน

28.ส่งเสริมให้มีการสร้างบรรยากาศของการสร้างสรรค์งานมากทางการเน้นกฎระเบียบที่หยุมหยิม

29.ถ้าออกนอกระบบแล้วแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงไหม (คนมาทำงานสาย**คนอู้งาน โยนงาน**คอรัปชั่นในองค์กร**มีบทลงโทษที่เข้มจริงไหม)

30.เมื่อเปรียบเทียบดูแล้ว พ.ร.บ. ให้ความสำคัญกับข้าราชการมากกว่า และคนที่เป็นพนักงานปัจจุบันดูเหมือนจะเสียเปรียบเมื่อเทียบกับข้าราชการที่เปลี่ยนมาเป็นพนักงาน เนื่องจากพวกที่เปลี่ยนมาใหม่สามารถมีสวัสดิการที่ดีกว่าได้ ขึ้นอยู่กับว่าเลือกอะไร

31.ควรมีแนวทางปฏิบัติเพื่อจะได้ผู้บริหารที่มีความยุติธรรมซื่อสัตย์

32.ควรมีสวัสดิการไม่น้อยกว่าราชการ (สุขภาพและการศึกษาของตนเองและบุตร)

33.ควรมีความเป็นธรรมในการประเมินและการร้องทุกข์

34.ควรให้ทุกฝ่ายของทุกวิชาชีพร่วมในการออกข้อบังคับ

35.ควรพัฒนาพนักงานและข้าราชการอย่างต่อเนื่อง

36.ควรสร้างขวัญกำลังใจโดยสร้างความมั่นคงในอาชีพอย่างเสมอภาค

37.ต้องการทราบข้อมูลโดยเฉพาะการประเมินระหว่างกลุ่มพนักงานและกลุ่มที่ยังคงเป็นข้าราชการอยู่ เนื่องจากอยู่สายวิชาการต้องมีผลงานวิจัยตามมาตรฐานเดียวกันหรือไม่อย่างไร

38.อยากให้มี Case ตัวอย่างว่าแต่ละช่วงอายุ/ตำแหน่ง ถ้าออก/ไม่ออก มีผลดี-ผลเสียอย่างไร แจกจ่ายให้บุคลากรทราบเพื่อตัดสินใจ

39.ต้องการทราบว่าข้อบังคับต่างๆก่อนเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ยังไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยจะมีเงินมาจ่ายให้พนักงานที่ออกเกือบทั้งหมดได้อย่างไร

40.การพิจารณาความดีความชอบ (เลื่อนขั้นเงินเดือน) ได้ถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ. ว่าต้องเป็นธรรม แต่เท่านั้นไม่เพียงพอ ควรมีการตรวจสอบหาบุคลาการภายนอกด้วย เพราะการเล่นพรรคเล่นพวกมีอยู่มาก

41.อยากให้ยังคงมีจริยธรรมคู่กับคุณธรรมไว้เหมือนเดิม เกรงว่าจะมีการแก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น การแข่งขันจะมากขึ้น มีการเห็นแก่ตัว มากกว่าประโยชน์ขององค์กร ส่วนรวม

42.ความก้าวหน้าของฝ่ายสนับสนุนวิชาการจะไปในทิศใด

43.ยังไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะดีกว่าเดิมหรือไม่

44.อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเอง ต้องคำนึงถึงผู้น้อยซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของ มช.

45.เครื่องมือที่ใช้ประเมินผลงานควรมีความเที่ยงตรง เชื่อถือได้ กำหนดจากส่วนกลาง เพราะทุกวันนี้ในระบบราชการเครื่องมือที่ใช้ประเมินเลื่อนขั้นยังมีการใช้ความรู้สึกของผู้ประเมินเป็นเครื่องมือตัดสิน

46..ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีระบบที่มั่นคง สวัสดิการ เงินเดือนดี

47.ผู้บริหารต้องมีความเป็นธรรม ระบบบริหารจัดการต้องชัดเจน โปร่งใส งานบางอย่างต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนในแต่ละระดับชั้น งานบางประเภทต้องอาศัยทักษะพิเศษเครื่องมือพิเศษ ในวิชาชีพเฉพาะ ต้นทุนดำเนินการในขั้นตอนการรักษาพยาบาลบางอย่างสูงมาก ณ ขณะนี้ยังอ้างอิงตามระบบกรมบัญชีกลาง ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริงในอนาคตมหาวิทยาลัยจะต้องขึ้นค่าบริการประชาชนจะทำอย่างไร
มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาไปสู่ระดับ world class แต่ basic knowledge ของผู้ที่จบมหาวิทยาลัยยังอยู่ในระดับต่ำ (ประเมินจากแบบสอบถามผู้รับผลงาน) ดังนั้น การประเมินผลงานอาจารย์ต้องจริงจังมากกว่านี้ อาจารย์ต้องทำงานเป็นทีม สหสาขาวิชาชีพในสายวิชาชีพต้องสามารถปฏิบัติได้ไม่ใช่สอนตาม text book

48.ดูตามหลักเกณฑ์แล้วดูดีมากแต่การปฏิบัติจะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ไม่มีผู้ใดรับประกันได้เพราะระบบบริหารราชการโดยทั่วไปยังมีข้อเป็นห่วงเรื่องคุณธรรมจริยธรรมความโปร่งใสของผู้บริหารทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการปฏิบัติงาน

49.ดีทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพการปรับเปลี่ยนโครงสร้างงานทำได้ง่าย

50.ควรมีการให้อัตราเงินที่เพิ่ม ของสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการเท่ากันหรือใกล้เคียงกันเพราะผู้ปฏิบัติงานให้มหาวิทยาลัยด้วยความทุ่มเทไม่แตกต่างกัน

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551

รายการ update ในช่วงนี้(2-8 มี.ค. 2551)

- ความรู้ทางการบริหาร ของคณาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มีบทความใหม่ค่ะ
- บล็อคของ ผศ.ธันยวัฒน์ มีบทความใหม่ค่ะ
- ตอนนี้เรามีบล็อค ความรู้ทางการเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วนะคะ แต่ยังไม่มีรายการบทความ ดังนั้นคณาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ฯ สนใจส่งบทความได้ที่ ทีม KM และ/หรือ ที่อาจารย์ ราม และ อ.ดร.จันทนา นะคะ

การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : เวียงกุมกามและบ้านถวาย

สวัสดีค่ะ ชาวคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ทุกท่าน ตามที่ได้นำเสนอไปในคราวที่แล้วเกี่ยวกับการจัดฝึกอบรมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ : เรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตอนนี้คณะทำงานของเราก็ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเสร็จเรียบร้อยด้วยดีไปแล้ว
ในตอนนี้เราก็จะขอนำเรื่องราวที่พอจะเก็บเล็กผสมน้อยจากการฝึกอบรมดังกล่าวได้ มาเผยแพร่แก่ชาวคณะฯ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการศึกษาดูงาน ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ในการจัดฝึกอบรมของ ศบมท. ของเรา

เริ่มจากการนัดหมายในวันสุดท้ายของการฝึกอบรม คือวันที่ 29 ก.พ. 2551 มีเหตุขลุกขลักเล็กน้อยในการลงทะเบียนก่อนขึ้นรถบัส เนื่องจากผู้เข้าอบรมหลายท่านไม่ทราบว่าจะต้องมาลงทะเบียนที่ลานจอดรถด้านหน้าโรงแรม เลยมีบางส่วนที่ยังนั่งรอที่บริเวณลอบบี้ของโรงแรม จนใกล้เวลาเดินทาง ทางเราก็ได้ไปขอให้โรงแรมประกาศเสียงตามสายให้ จึงเริ่มมีคนทยอยเดินออกมาจากโรงแรม ในส่วนนี้ก็ถือเป็นการเรียนรู้ของผู้จัดฝึกอบรมว่า ในการจัดอบรมนั้น การประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและชัดเจนนั้นเป็นสิ่งจำเป็น อาจจัดทำเป็นป้ายประกาศที่เห็นได้ชัดเจน หรือประกาศซ้ำๆในห้องบรรยายก็ได้ อย่างไรก็ตามเท่าที่เคยสังเกตมาจากการจัดฝึกอบรมหลายครั้ง คือ ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่มักจะตั้งใจรับฟังการประกาศประชาสัมพันธ์กำหนดการ การเปลี่ยนแปลง หรือการนัดหมายต่างๆ ในวันแรกของการฝึกอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปิดการฝึกอบรมมากกว่าช่วงเวลาอื่น ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ทางผู้จัดการฝึกอบรมก็ควรจะต้องจัดทำกำหนดการ การนัดหมายต่างๆที่แน่นอนและชัดเจนก่อนการฝึกอบรม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าอบรมทราบในวันแรกของการอบรมจะได้ผลดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่ก็มีความกระตือรือร้นและสนใจเกี่ยวกับศึกษาดูงานครั้งนี้พอสมควร เราออกเดินทางจากโรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท เวลาประมาณ 08.45 น. โดยรถบัสของบริษัท จงเจริญทัวร์ จำนวน 2 คัน ซึ่งมารอพวกเราตั้งแต่เช้าตรู่
เดินทางถึงศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม ในเขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เวลาประมาณ 09.15 น. โดยได้รับแจ้งจากปลัดอบต. คือ พี่ลักขณา ฤาชา ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของคณะเราเอง ว่า เนื่องจากห้องประชุมของ อบต.ท่าวังตาลกำลังปรับปรุงอยู่ จึงขอมารับรองคณะดูงานของเราที่ศูนย์ข้อมูลนี้แทน ซึ่งก็ตั้งอยู่ติดกันกับที่ว่าการ อบต. ท่าวังตาลนั่นเอง

นอกจากจะมีปลัดอบต.มาให้การต้อนรับแล้ว เรายังได้รับเกียรติจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าวังตาล คือ นายอานันท์ สิงห์ตาแก้ว มาบรรยายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอบต.ท่าวังตาล โดยเฉพาะในส่วนของ เวียงกุมกามอีกด้วย ในบรรยากาศที่เป็นกันเองมาก

จากการบรรยายของท่านนายก อบต. ทำให้เราทราบว่า ตอนนี้ เวียงกุมกามยังอยู่ในกำกับดูแลของ อำเภอสารภีอยู่ ซึ่งอีกไม่นาน อำเภอก็จะถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การบริหารจัดการมาให้อบต.ท่าวังตาล ต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาในการบริหารจัดการจึงย่อมมีอยู่ เพราะในส่วนของโบราณสถานนั้นอยู่ในการกำกับดูแลของ กรมศิลปากร ทั้งที่เป็นพื้นที่ในความดูแลของอบต. จึงจำเป็นต้องมีการประสานข้อมูลระหว่าง 3 หน่วยงานกันตลอดเวลา เพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ โดยไม่กระทบต่อโบราณสถาน
และในบางกรณี ก็อาจทำให้ประสบปัญหาในการดำเนินงาน เช่น ปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างห้องน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวในบริเวณเวียงกุมกาม เพราะ อบต.ไม่มีอำนาจตัดสินใจดำเนินการ จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากกรมศิลปากรก่อน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของอบต.ท่าวังตาล ประสบความสำเร็จ นั่นคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยมีเครื่องมือสร้างสรรค์การมีส่วนร่วม คือ การประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเสียงตามสาย ในหมู่บ้าน ซึ่งนายก อบต.บอกพวกเราว่า การบอกเล่าแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ถึงความเคลื่อนไหวของ อบต. ตลอดจนความคืบหน้าดำเนินงานเรื่องต่างๆ นั้น สามารถช่วยจูงใจให้ประชาชนสนใจในกิจการงานของ อบต.มากขึ้น เมื่อประชาชนรับรู้การดำเนินงานของอบต.มากขึ้น ก็สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็น หรือเสนอความต้องการต่างๆได้มากขึ้นเช่นกัน
เสร็จจากส่วนของการบรรยาย ทางอบต. ท่าวังตาล ก็ยังได้กรุณามอบของที่ระลึกให้แก่คณะดูงานของเราอีกด้วย เป็นรูปภาพสถานที่ต่างๆใน อบต. ท่าวังตาล (ดูของจริงได้ที่ห้องประชุม ชั้น 4)
หลังจากนั้น พวกเราก็ขึ้นรถรางจากหน้าศูนย์ข้อมูล มุ่งสู่เวียงกุมกาม นครใต้พิภพกัน (รายละเอียดของเวียงกุมกาม กรุณา อ่านได้ที่นี่) โดยรถรางแต่ละคันจะมีมัคคุเทศก์อาสาประจำรถ ซึ่งก็เป็นคนในพื้นที่นั่นเอง บรรยายอย่างสนุกสนานเป็นกันเองตลอดเส้นทาง และรับค่าตอบแทนแล้วแต่น้ำใจของนักท่องเที่ยว
จากจำนวนวัด 9 วัดเท่าที่ขุดค้นพบได้ในปัจจุบัน รถรางจะจอดให้เราลงไปไหว้พระ 3 ที่ คือ วัดช้างค้ำ วัดพระธาตุขาว และวัดเจดีย์เหลี่ยม ซึ่งแต่ละวัดมีความสวยงามและน่าทึ่งแตกต่างกันไป แต่ต้องขออภัยเพราะจำได้ไม่หมด มีแต่ภาพมาฝาก

พวกเราใช้เวลาชมเวียงกุมกามประมาณ 1 ชั่วโมง ก็เดินทางกลับมารับประทานอาหารกลางวันที่ อบต. ท่าวังตาล เสร็จแล้วก็ล่ำลาเจ้าของบ้าน ออกเดินทางต่อไปยังบ้านถวาย
พวกเราเดินทางถึงบ้านถวาย เวลาประมาณ 13.30 น. ที่นี่เราก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่งอีกครั้งจากผู้ดูแลศูนย์ข้อมูล คือ คุณประพันธ์ ซึ่งได้กรุณาโทรมาสอบถามและบอกเส้นทางพวกเราตั้งแต่ยังไม่ออกเดินทาง และยังรับเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติบ้านถวายและการดำเนินงานต่างๆ
จุดสำคัญที่ทำให้บ้านถวายเติบโตและเป็นที่รู้จักทั่วประเทศและทั่วโลก ก็คือการส่งเสริมจากภาครัฐ ภายใต้แนวคิดหมู่บ้านโอทอป เพื่อให้เกิดการรวมตัวของช่างฝีมือ ผู้ผลิตและผู้ค้าผลิตภัณฑ์โอทอปจากแหล่งต่างๆมาไว้ที่เดียวกัน นอกจากนั้น ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนพื้นที่ เช่นกันกับ อบต.ท่าวังตาล ซึ่งคุณประพันธ์บอกเราว่า ร้านค้ากว่า 200 ร้านในพื้นที่บ้านถวายส่วนใหญ่คือบ้านเรือนประชาชนเดิม ซึ่งยินดีเปิดบ้านเป็นหน้าร้าน โดยการประชาสัมพันธ์อย่างเข้มแข็งเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ออกสู่โลกภายนอก ประกอบกับการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีคณะกรรมการบริหารกลุ่มหัตถกรรมบ้านถวาย ทำให้บ้านถวายเป็นชุมชนหัตถกรรมที่โดดเด่นชุมชนหนึ่งของประเทศไทย
หลังจากนั้น เราก็ปล่อยให้คณะดูงานได้เดินดูบ้านถวายโดยรอบประมาณ 45 นาที ก่อนออกเดินทางกลับยังโรงแรมกรีนเลครีสอร์ท ในเวลาประมาณ 15.00 น.

จากการประเมินตนเองของคณะทำงาน ก็ถือว่าในส่วนของการศึกษาดูงานนั้นค่อนข้างเป็นไปตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ และแม้ว่าในส่วนของการบรรยายอาจไม่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ แต่การได้มาดูได้มาเห็นสถานที่จริง ก็ย่อมทำให้เกิดการจุดประกายความคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เช่น การบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น การบริหารจัดการชุมชนร้านค้าในท้องถิ่น เป็นต้น (แบบที่ พอเห็นแล้วก็ร้อง อ๋อ อยู่ในใจว่า เขาทำยังงี้ๆนี่เอง) และก็หวังว่าคงทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดความคิดใหม่ๆในการนำกลับไปใช้วางแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเองต่อไป

สำหรับคณะทำงานฝึกอบรมครั้งนี้ก็เป็นประสบการณ์การทำงานด้านบริการวิชาการอีกด้าน ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาการทำงาน และการเรียนการสอนของแต่ละท่านต่อไปเช่นกัน และคงได้มีประสบการณ์การทำงานอื่นๆมาเล่าสู่กันฟังอีกในโอกาสหน้านะคะ สวัสดีค่ะ